All Blogs

มาฝึกวิจารณ์รูปภาพกันครับ

posted on | 0 comments
Original Photo

การคอมเม้นท์หรือวิจารณ์รูปภาพเป็นสิ่งที่ดีมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกวิจารณ์รูปภาพของตัวเองหรือรูปภาพคนอื่น รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนอื่นมาวิจารณ์งานของเราด้วย

การวิจารณ์รูปภาพเป็นการมองถึงข้อดีและข้อเสียของชิ้นงาน ซึ่งการวิจารณ์ที่ดีนั้นต้องสามารถอธิบายถึงสาเหตุ ที่มาที่ไปของคำวิจารณ์ได้ด้วย เรียกว่ามีเหตุผลรองรับนั่นเอง

ผมมักจะวิจารณ์งานของตัวเองบ่อยๆ ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง เพื่อพัฒนากระบวนการคิดให้ที่จะส่งผลต่อไปทั้งเรื่องการถ่ายและการรีทัช ลองมาดูใบนี้เป็นตัวอย่างกันครับ หลังจากที่รีทัชเสร็จและทำการดองไว้ 1 คืนแล้วมาเปิดดูรูปอีกครั้ง หลังจากนั้นก็ลองวิจารณ์งานใบนี้ของตัวเอง

เริ่มด้วยสิ่งที่ชอบก่อน
1. เรื่องแรกสุดเลยที่ชอบในภาพนี้คือเรื่อง “มุมมอง” เป็นมุมมองที่ดูแล้วสบายตาแต่รู้สึกได้ถึงความตั้งใจบางอย่างนั่นก็คือเรื่องของเส้นในรูปภาพที่ประกอบขึ้นเป็น “เฟรม” ทั้งกรอบบานประตู, ผนังอิฐด้านหลัง, และตรอกที่มองลึกเข้าไป เหมือนกรอบสี่เหลี่ยมเป็นชั้นๆ ทำหน้าที่เน้นจุดเด่นให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น



2. พื้นที่ด้านบนเข้มกว่าความเป็นจริงซึ่งเกิดจากการรีทัช ด้วยการใช้ Graduated Filter ลากลงมาแล้วลด Exposure ลง ซึ่งเมื่อด้านบนเข้มขึ้น ทำให้รู้สึก Balance กับโซนด้านล่างที่อยู่ในเงามืด แถมยังเป็นตัวบีบสายตาให้เข้าสู้จุดเด่นได้อีกทาง



3. ว่าด้วยเรื่องของการถ่าย รูปแบบนี้สามารถถ่ายได้ 2 สภาพแสงคือ
- แบบที่ 1 ถ่ายเหมือนในรูปตัวอย่าง ที่ปล่อยให้ตัว Subject มืดไปเลย แต่สภาพแวดล้อมโดยรวมดูลงตัว มีความเปรียบต่างของแสงในส่วนมืดและสว่างชัดเจน

- แบบที่ 2 ถ่ายให้ตัวแบบสว่างพอดี ฉะนั้นส่วนของท้องฟ้าจะออกขาวไปเลย ส่วนมืดจะเห็นรายละเอียดขึ้นมาอีกนิด

เพียงแค่ใช้วิจารณญาณซักนิด เราก็พอจะเดาออกแล้วครับว่าแบบที่ 1 ต้องออกมาดูดีกว่าแน่ๆ เนื่องจากตัวแบบไม่ได้มีสีหน้าท่าทางที่สื่อถึงความหมายอะไร เพิ่มแสงสว่างลงไปก็ไม่ได้ช่วยให้รูปมีเรื่องราวมากยิ่งขึ้น แถมในส่วนของท้องฟ้าก็สูญเสียรายละเอียด เผลอๆ ในส่วนเงามืดอาจจะมองเห็นอะไรที่ไม่น่าดูชัดเจนขึ้นมาอีกด้วย ฉะนั้นการเลือกถ่ายมาในลักษณะนี้จึงคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว



สิ่งที่ไม่ชอบหรืออยากลองแก้ไข
1. ด้านบนรูปภาพเห็นขอบตึกเป็นสามเหลี่ยมเล็กๆ แต่พาดยาวไปอีกด้าน กับยอดเสาไฟฟ้าที่ดูสีเข้มไปนิดขัดกับตีมโดยรวมของ Background ลองรีทัชออกดูว่าสวยขึ้นหรือไม่
2. เส้นขอบผนังตึกเป็นเส้นเดียวในรูปภาพที่ดูเอียง ถึงจะไม่มากแต่ก็เห็นชัดเจนในระดับหนึ่ง ลองปรับแก้เอียงดูเช่นกันครับว่างานออกมาดีขึ้นหรือไม่



หลังจากปรับแก้สิ่งรบกวนออกและปรับให้ผนังตรงขึ้น ปารกฎว่าโดยรวมของภาพ ไม่รู้สึกติดขัดอะไรแล้ว และไม่น่าจะมีอะไรที่ปรับแต่งเพิ่มได้มากกว่านี้ ก็ถือเป็นอันจบงานโดยสมบูรณ์ของภาพใบนี้ครับ


มาดูรูปเบาๆ กันบ้างครับ ใบนี้คือรูปที่เคยรีทัชไว้เมื่อนานมาแล้ว ลองหยิบขึ้นมาเป็นตัวอย่างอีกที

สิ่งที่ไม่ชอบและคิดว่าแก้ไขได้ คือพวกกิ่งไม้ และหญ้า Foreground ที่สูงขึ้นมาถึงฉากหลัง



หลังจากที่ลบหญ้าและกิ่งไม้ออกไป งานดู Clean และ Clearขึ้นเยอะเลย แสดงว่าสิ่งที่เราประเมินและแก้ไขนั้น น่าจะมาถูกทางแล้ว

ส่วนข้อดีของภาพใบนี้คือ
1. คอมโพสโอเค ไม่ถึงขั้นหวือหวามาก แต่ก็ไม่มีจุดบอดอะไรที่ก่อให้เกิดเป็นข้อเสียของรูปภาพ
2. เลือกถ่ายมุมต่ำ Foreground จะอยู่ใกล้หน้ากล้องมายิ่งขึ้น โอกาสที่ Foreground จะหลุดโฟกัสและกลายเป็น Bokeh ก็มากขึ้น ซึ่งเข้ากับตีมของภาพใบนี้
3. สิ่งที่จะให้คะแนนมากที่สุดของภาพใบนี้คือเรื่องการใช้สี ถ้าสังเกตสีที่ Background เป็นหลัก จะเป็นการใช้สีแบบ Analogous หรือกลุ่มสีข้างเคียงนั่นเอง โดยตีมสีออกไปทางเหลืองส้ม และคอมโพสที่เลือกนำเสนอมา ตัวแบบยืนพาดทับฉากหลัง แต่นางแบบใส่เสื้อสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นคู่สีตรงกันข้าม การแยกสีของนางแบบกับฉากหลังจึงดูชัดเจนมาก


มาดูกันอีกซักตัวอย่างนึงครับ เบื้องต้น ก่อนอ่านสิ่งที่ผมเขียน ลองประเมินด้วยตัวเองก่อนครับว่าข้อดีข้อเสียคืออะไร คิดว่าใบนี้ไม่ยาก น่าจะเดาทางกันได้เกือบทุกคน

สิ่งที่ชอบ
1. เส้นสายของ Background ทำงานได้ดี เริ่มจากเส้นของภูเขาไกลสุด(เส้นสีฟ้า) เป็นเส้นชี้มายังภูเขาที่อยู่ด้านหน้า(เส้นสีแดง) ที่มีเส้นชี้นำต่อมายังต้นไม้สูงที่สุด(เส้นสีม่วง) ทำหน้าที่ชี้ลงมาที่ตัวแบบอีกที เป็นการรับส่งกันของเส้นที่ค่อนข้างลงตัวมาก

ปล. ถามว่าก่อนถ่าย ผมคิดอะไรเยอะแยะขนาดนี้เลยหรือ ตอบว่าไม่ได้คิดมากขนาดนั้นครับ เมื่อเราฝึกมองภาพไปเรื่อย มันจะเกิดความคุ้นชินไปเอง เวลาอยู่ในสนามจริงและกำลังมองผ่านกล้อง เราไม่ได้คิดถึงเรื่องเส้นพวกนี้เลยครับ แต่ Sense มันจะบอกเองว่า มุมนี้ หรือจุดนี้มีอะไรบางอย่างที่ไม่ลงตัว เราก็เลือกมุมใหม่ การเดินขยับแค่ไม่กี่ก้าว ถ่ายมุมกด มุมเงย มีผลอย่างมากต่อรูปภาพทั้งสิ้น พอเราได้มุมที่ Sense รู้สึกว่าลงตัว เราก็ถ่ายมาเลยครับ ได้ภาพที่ดูไม่ขัดตาแน่นอน



2. ตำแหน่งและสีเสื้อของตัวแบบ เอาเรื่องสีเสื้อก่อนเพราะเป็นเรื่องง่าย คือตั้งใจซื้อเสื้อสีนี้มาตั้งแต่แรก เพราะในสภาพแวดล้อมของงาน Landscape จะไม่ค่อยมีสีชมพูบานเย็น การเลือกสีนี้จึงมีโอกาสสูงที่ตัวแบบจะตัดกันชัดเจนกับสภาพแวดล้อม ดังในตัวอย่างนี้... ส่วนเรื่องตำแหน่งที่ยืนของตัวแบบ สำหรับข้อนี้ต้องบอกว่าจงใจให้นางแบบไปยืนตรงจุดนั้นเลย ยังจำได้ว่า ผมส่งสัญญาณให้น้องเค้าถอยหลังมาใกล้ต้นไม้ใหญ่มากที่สุด เพราะอยากได้เส้นตรงจากต้นไม่ชี้มายังตัวแบบ แต่ก็ต้องระวังนิดนึงครับ ต้องหมั่นสังเกตด้วยว่ามีผลกระทบในเรื่องอื่นหรือปล่าว ในเคสนี้มีครับ ถ้าไปยืนใต้ต้นไม้เลย จะดูเหมือนมีกิ่งไม้งอกออกมาจากหัวนางแบบ สรุปคือให้ยืนในตำแหน่งดังกล่าว น่าจะเป็นจุดที่เกิดประโยชน์มากสุด



สิ่งที่อยากแก้ไข

หลังจากพิจารณาแล้วคิดว่ามีเรื่องเดียวเลยครับ คือในจุดที่วงไว้ มีคนเดินอยู่ในรูปภาพ สีสันของเสื้อผ้า ดูกวนสายตาและแย่งซีนจุดเด่นไม่น้อย ลองพยายามลบออกดู ปรากฏว่างานดูดีขึ้น ก็เป็นอันจบการแก้ไขภาพใบนี้ครับ



งานหลังจากแก้ไข ไม่รู้สึกถึงตำหนิใดๆ แล้ว



เห็นไหมครับว่าการฝึกวิจารณ์รูปภาพ ไม่ยากเลย ดูแล้วคิดตามบ่อยๆ เดี๋ยวมันจะกลายเป็นลักษณะนิสัยไปเอง

หากมีเวลาว่างผมจะทำข้อมูลเพิ่มให้ดูถึงแนวคิดกับปัญหาหลายๆ แบบครับ... สำหรับบทความนี้ ขอจบลงเพียงเท่านี้ก่อน แล้วเจอกันในบทความถัดไป สวัสดีครับ...

Comments info