All Blogs

First Impression with NiSi Filter

posted on | 0 comments
Original Photo

ราว 4 ปีก่อน ผมมีโอกาสได้ลองเล่น Filter ลดแสงของยี่ห้อนึงอยู่ 1 อาทิตย์ แต่ก็ไม่ได้ใช้จริงจังมากนัก ความรู้สึกตอนนั้นคือ มันเป็นอุปกรณ์ที่คนชอบถ่ายภาพ Landscape ควรจะมีติดตัวไว้ แต่ด้วยเรื่องของราคาในตอนนั้น ผมมองว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่ราคาสูงมากและสามารถทดแทนได้ด้วยการซ้อนภาพ(Multiple Exposure) จึงยังไม่ตัดสินใจซื้อในตอนนั้น

แต่ในข้อเท็จจริง หลายกรณีเราไม่สามารถแต่งภาพให้มี Effect เหมือนกับการใช้ Filter จริงๆ ได้ และทุกครั้งที่ผมเปิดดูรูปเซ็ตที่ใช้ Filter ชุดนั้น ก็ยังนึกชมชอบอยู่ในใจเสมอมา เพราะรูปภาพที่ได้นั้น สมบูรณ์และง่ายต่อการโพรเซสมากๆ




และแล้วก็มาถึงจุดที่คิดว่าควรจะมี Filter เป็นของตัวเองซักที ซึ่งนาทีนี้มีหลายค่ายให้เลือกมาก แต่ตัวที่ได้รับความชื่นชมจากชาวเน็ตมากกว่ายี่ห้ออื่นสำหรับนาทีนี้คือ “NiSi Filter”… ผมเลยเริ่มเสริจหาข้อมูลจนกระทั่งค่อนข้างมั่นใจแล้วว่าจะซื้อยี่ห้อนี้ แล้วก็โอกาสประจวบเหมาะพอดีที่จะได้ออกไปเที่ยว เลยถือโอกาสรีวิวซะเลย แต่ต้องขอออกตัวก่อนว่า ถ้าไม่นับการเล่นขำๆ ครั้งโน้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว นี่ถือเป็น First Impression ของการใช้ฟิลเตอร์ลดแสงเลย



ความชื่นชอบอย่างแรกที่ประทับใจ NiSi มากคือ “Holder”… เค้าดีไซน์มาเฉพาะเลนส์แต่ละตัวเลย มันจึงเข้ากันพอดีเป๊ะกับเลนส์ของเรา(ผมใช้เลนส์ 14-24 F/2.8N) แถมการประกอบเข้ากับเลนส์ก็ง่ายมากๆ สวมเข้าทางด้านหน้าเลนส์ หมุนน๊อต 2 ตัว(ลูกศรด้านซ้าย) เอาแค่รู้สึกตึงมือก็จบเลยครับ รับรองว่าแน่นกระชับ... ด้านหน้า Holder จะมีเหล็กเล็กๆ 4 ชิ้นยื่นออกมา (ลูกศรด้านขวา)  ตอนที่ผมเห็นรูปบนอินเตอร์เน็ต ยังคิดว่า มันคือชิ้นส่วนที่เอาไว้บีบติดกับตัวเลนส์หรือปล่าว ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ตัวบอดี้เลนส์ไม่ถลอกหมดหรือ... ^ ^” จริงๆ แล้วไม่ใช่ครับ เจ้าเหล็กดังกล่าวมันจะชนกับติดอยู่กับร่องฮู๊ดของเลนส์พอดีเป๊ะๆ เลยครับ ทำให้เรามั่นใจว่าตอนที่ใส่เสร็จนั้น ถูกต้องและแน่นแล้วแน่นอน


แต่เลนส์ 14-24 F/2.8N เป็นเลนส์หน้ากว้างซึ่งต้องใช้ฟิลเตอร์ระบบ 150mm ทำให้ Holder และแผ่นฟิลเตอร์มีขนาดใหญ่นิดนึง แถมแผ่นฟิลเตอร์ทำมาจากกระจก การพกพาจึงต้องการพื้นที่มากหน่อยและต้องระมัดระวังเรื่องการกระแทกให้มาก เพราะถ้าแตกขึ้นมาก็เสียเงินหลายอยู่ครับ (ตีไว้หยาบๆ ก็แผ่นละ 8000++… >”<)


หลักๆ ของแผ่นฟิลเตอร์จะมี 2 แบบใหญ่ คือ Graduated Neutral Density(GND) และ Neutral Density(ND)

GND ก็จะมีประเภทย่อยลงไป เช่น ลักษณะของการเกลี่ยความเข้มในการลดแสง… หลักๆ จะมี 2 แบบ คือแบบ Soft และ Hard ซึ่งในแต่ละแบบก็จะซอยย่อยในเรื่องความเข้มในการลดแสงอีกที เช่นลดแสง 2 Stop, 3 Stop… เป็นต้น

ส่วนแผ่น ND นั้นถูกออกแบบมาเพื่อลดแสงลงทำให้เราสามารถลากสปีดชัตเตอร์ได้ยาวมากขึ้น ที่นิยมใช้กันมากก็ลดแสงลง 6 Stop กับ 10 Stop


ส่วนอีกแผ่นที่ผมชอบมากๆ คือ PL Filter (Square HD Polariser) เป็นแผ่นฟิลเตอร์ไว้ตัดแสง แถมทำรูปภาพสีสันสดใสขึ้นด้วย

แผ่นฟิลเตอร์พวกนี้ มีไว้ทั้งเอาไว้แก้จุดบอดเรื่องแสงและเอาไว้สร้าง Effect ที่แปลกตา เป็นขั้นตอนการถ่ายที่ช่วยให้เราได้ภาพตั้งต้นที่ดีขึ้น แต่ก็ยังต้องนำรูปมาทำการโพรเซสต่อด้วยโปรแกรมแต่งภาพอยู่ดี เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด



พูดถึงแผ่น ผมเคยอ่านเจอมาว่า เค้าใช้เทคโนโลยีในการ Coating ที่ดีมาก เลยต้องลองซักหน่อย ลองเอาน้ำเทบนแผ่น ND น้ำกลิ้งเหมือนอยู่ใบบอนเลยครับ... ตะแคงแผ่นให้น้ำไหลออก น้ำไหลหมดจดไม่ทิ้งคราบน้ำไว้เลย เจ๋งมากๆ...  แต่ถ้าละออกน้ำเล็กมากๆ ก็จะเกาะติดแผ่นบ้างเหมือนกันครับ (ผมทดลองด้วยการเอา  Foggy ฉีด) ที่มันเกาะติดแผ่นเพราะน้ำหนักมันน้อยมากจนไม่ไหลลงมา ถ้าเจอเคสนี้ ไม่ต้องหาผ้าซับครับ เอาน้ำปล่าวราดซ้ำเลย... เร็ว สะอาด และหมดจดกว่าการเช็ดแน่นอนครับ




น่าจะเกริ่นพอสมควรแล้ว เรามาดูการใช้งานจริงๆ กันดีกว่าครับ… แต่ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่า การใช้แผ่นฟิลเตอร์นั้นเป็นการใช้อุปกรณ์เสริมที่จะทำให้ได้ภาพตั้งต้นที่สมบูรณ์มากขึ้น แต่ท้ายที่สุดก็ยังต้องผ่านกระบวนการโพรเซสอยู่ดี ซึ่งภาพในบทความนี้ทั้งหมด ผ่านการปรับแต่งด้วย Photoshop มาแล้ว แต่ใบไหนที่เป็นภาพต้นฉบับ ผมจะเขียนกำกับเอาไว้ให้ชัดเจนครับ… ว่าแล้วก็เริ่มกันเลย…

มุมนี้ถ่ายที่ผานกแอ่นบนภูกระดึง ตอนที่ถ่ายมุมนี้ จริงๆ คนอื่นเค้ากลับกันไปหมดแล้วครับ เนื่องจากดวงอาทิตย์เลยจุดพีคมาซักพักนึงแล้ว ถ้าไม่ใส่ฟิลเตอร์ส่วนที่เป็นท้องฟ้าจะสว่างโร่เลย ใบนี้ผมลองใช้แผ่น GND8(0.9) แบบ Soft ลดแสงลง 3 Stop เพื่อปิดแสงด้านบนเอาไว้ ปรากฏว่าภาพออกมาดูดีทีเดียว เลยลองย้อม WB เป็น 10000K เพื่อให้ภาพดูติดโทนร้อนเหมือนมีแสงดวงอาทิตย์ฉาบอยู่ทั่วบริเวณ… แค่ช็อตแรกที่ได้ลองใช้ ก็ได้งานแบบนี้เลย… สารภาพว่าเริ่มหลงรัก NiSi เข้าให้แล้วครับ

ปล. สำหรับใบนี้เป็นภาพต้นฉบับจากไฟล์ Jpg เลยครับ ย่ออย่างเดียว จะสังเกตเห็นว่าแสงที่ดวงอาทิตย์กำลังสวยเลย แต่ต้นไม้ซ้ายมือบน ดูมืดไปนิด อันนี้ก็เนื่องมาจากการใช้แผ่นฟิลเตอร์นี่แหละครับ


ส่วนใบนี้เป็นมุมเดียวกันเวลาใกล้ๆ กัน แต่เอาไฟล์ Raw มาตกแต่ง และเปิดเงาในส่วนของต้นไม้ด้านซ้ายบนไม่ให้ดำเป็นก้อนมากจนเกินไป ทำให้งานดูเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น

***ทริค… การแก้ส่วนที่มืดเกินไปนั้นง่ายมากๆ ครับ ยกตัวอย่างในเคสนี้ก็เพียงแค่ใช้ Radial Filter ใน ACR สร้างวงกลมล้อมรอบส่วนมืดของต้นไม้ แล้วดัน Shadow ขึ้นมา เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อยแล้วครับ…




ใบนี้เป็นตัวอย่างของการลักไก่ครับ… สภาพแวดจริงในขณะนั้น ทุกส่วนของรูปภาพได้รับแสงเท่ากันทั้งหมด แต่ผมใช้ DNG8(0.9) แบบ Soft กดแสงด้านบนไว้ให้มืดกว่าความเป็นจริง ทำให้ดูเหมือนมีแสงตกลงตรงใบเฟิร์นตรงกลางภาพพอดี ภาพเลยดูมีจุดน่าสนใจที่ชัดเจน เท่านี้ก็ได้งานที่ดูดีกว่าไม่ใส่แผ่นฟิลเตอร์เยอะเลยครับ


ส่วนช็อตนี้เป็นช่วงเช้าที่มีเมฆมากและดวงอาทิตย์ขึ้นสูงแล้ว แต่ในเมื่อใส่ฟิลเตอร์กดแสงด้านบนไว้ ทำให้สภาพแสงระหว่างท้องฟ้ากับพื้นดินดูบาลานซ์กันมากขึ้น แต่เนื่องจากสภาพบรรยากาศตอนนั้น มันไม่ได้อารมณ์ของแสงและสีสวยๆ แล้ว แถมภาพดูตุ่นมาก เลยลองย้อม WB ไปที่ 3450K และดึง Exposure ลง ทำเป็นภาพกลางคืนไปเลย ภาพดูดีขึ้นเยอะ กลับกลายเป็นภาพที่ชอบมากอีกใบ ซึ่งในกรณีนี้ ถ้าไม่มีฟิลเตอร์กดแสงด้านบนไว้ ก็คงไม่สามารถเอารูปมาปรับเป็นกลางคืนได้ เพราะท้องฟ้าที่สว่างเกินไปจะขัดกับสภาพความเป็นจริงของภาพถ่ายกลางคืน


ส่วนฟิลเตอร์อีกแผ่นที่ผมชอบมากคือ PL Filter (Square HD Polariser) เป็นแผ่นฟิลเตอร์ตัดแสงสะท้อน ซึ่งนอกจากตัดแสงสะท้อนแล้วยังทำให้สีสันของ Object ในรูปภาพดูสดขึ้นด้วย

เมื่อพูดถึงฟิลเตอร์ PL เป็นอีกเรื่องที่ผมนึกชื่นชม NiSi เนื่องจากเค้าทำแผ่น PL มาเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเหมือนแผ่นฟิลเตอร์ธรรมดาเลยครับ เสียบลงไปใน Holder แล้วหมุน Holder เพื่อหามุม Polarize ได้เลย… สะดวกกว่าบางค่ายที่ยังทำ PL เป็นฟิลเตอร์วงกลม แถมยังต้องต่อผ่านแหวนที่ยึดกับ Holder อีกที เรียกว่ายุ่งยากกว่ามากครับ

ปล. ใบนี้ใช้ไฟล์ต้นฉบับ Jpg ทั้งคู่ครับ




ส่วนใบนี้ลองมาดูรูปเต็มๆ ที่ได้จากการนำไฟล์ Raw มาปรับแต่งกันบ้างครับ ปรับแต่งนิดเดียวแค่ไม่ให้ส่วนมืดดำจนเกินไปเท่านั้นเองครับ ตัดแสงสะท้อนที่ผิวน้ำ และทำให้ภาพโดยรวมสีสดขึ้นต้นแต่ต้น การโพรเซสจึงง่ายด้วยด้วย


ช็อตนี้ดวงอาทิตย์ตกไปอยู่หลังเมฆแล้ว ในสภาพแวดล้อมจริงเห็นท้องฟ้าเป็นสีเทาๆ ส่วนบริเวณที่เป็นดวงอาทิตย์ก็จะเป็นสีเทาที่สว่างกว่าส่วนอื่นอยู่แค่นิดหน่อย เลยลองหยิบแผ่น ND 10 Stop มาลากสปีดยาวๆ ให้ภาพดูมีแสงขึ้นมาอีกครั้ง ถึงแม้ว่าภาพที่ได้มาจะไม่สวยขนาดที่ต้องร้องว๊าว แต่ก็แอบยิ้มในใจนิดๆ ว่าช็อตที่เมื่อก่อนเราต้องเก็บกล้องเข้ากระเป๋าแล้วนั้น ยังมีอะไรให้เล่นเพิ่มได้ถ้ามีแผ่นฟิลเตอร์


การมีแผ่นฟิลเตอร์ ND 10 Stop สามารถสร้าง Effect แปลกตาได้เยอะเลยครับ เห็นน้ำที่หมุนวนดูละมุนอยู่นั่นไหมครับ ดูๆ ไปก็สวยดีนะ แต่ในความเป็นจริงนั้น มันคือน้ำเสียนั่นเอง ฟองฟ๊อดเลย ^ ^” แต่น้ำมันมีการเคลื่อนไหวอยู่นิดๆ พอเราลากสปีดยาวมากพอ เจ้าฟองฟ๊อดที่ว่านั่น ก็ดูเหมือนสายน้ำใสไหลวน กลายเป็นพระเอกของรูปภาพไปซะงั้น

ปล. น่าเสียดายที่ช็อตนี้ไม่มีแดด และพวกผมไม่สามารถหยุดอยู่ตรงนี้ได้นานเพื่อรอแสง ถ้าแสงดีมิติของภาพจะสวยกว่านี้เยอะเลยครับ เกือบจะเป็นรูปที่เอามาเข้า Portfolio ส่วนตัวได้อีกใบ เสียดายมากๆ…


อีกเรื่องที่ผมอยากชม NiSi มากๆ เลยคือเรื่องความคลาดเคลื่อนของสีที่เค้าเคลมไว้ว่าคลาดเคลื่อนน้อยมากๆ ผมทดสอบแล้วต้องบอกว่าของเค้าดีจริงๆ โดยปกติแล้วการกรองแสงเยอะๆ จะมีผลต่อเรื่องสีได้ง่ายมาก บางยี่ห้อที่ราคาถูกๆ หน่อยนี่สีเพี้ยนกระจุยเลย เรียกว่าลดแสงได้จริงแต่สีพังมาก เพราะมันไม่ได้เพี้ยนในลักษณะคล้ายๆ WB ผิด เพราะถ้าเป็นกรณีนั้นเรายังแก้ได้ไม่ยากนัก แต่มันเพี้ยนเป็นบางสีครับ คราวนี้ยุ่งเลย แก้ยากมากจนบางครั้งแก้ไม่ได้ก็มี…

แต่เรื่องนี้ NiSi สอบผ่านฉลุย ได้ตามที่เค้าเคลมไว้จริงๆ ที่บอกไว้ว่าความคลาดเคลื่อนของสีน้อยมาก… ใบนี้ผมเอา GND Soft 0.6 ซ้อนกับ ND 10 Stop เลย แถมลากไป 4 นาที เรียกว่าโจทย์โหดเลยเพราะทั้งซ้อนแผ่นทั้งลากยาว ผลที่ได้คือสีออกมาเป๊ะมากครับ ตอนแต่งภาพ อยากปรับ WB โดยรวมหรืออยากปรับแต่งเฉพาะสีก็ทำได้เหมือนภาพปกติเลย เรื่องสีเอาไป 10 คะแนนเต็มเลยครับ ชอบมากๆ…




นึกว่าเกือบจะไม่มีโอกาสได้เล่น GND แบบ Hard แล้วครับ แต่พอดีได้กลับบ้านที่ภาคใต้เลยมีโอกาสได้ลองเล่น… แผ่น Hard เหมาะกับภาพทะเลครับ เพราะเส้นขอบฟ้าจะตัดส่วนบนกับล่างชัดเจน การใช้แผ่น Hard กับงาน Seascape จึงเข้ากันมากๆ และมันทำให้ผมได้รู้ว่าเจ้าแผ่น Hard นี่แหละครับที่เวลาใช้ ต้องละเอียดกับมันมากกว่าแผ่นแบบอื่นๆ เลย เนื่องจากเราต้องวางรอยต่อของแผ่นให้ตรงกับเส้นขอบฟ้าเสมอ ไม่อย่างนั้นภาพมันจะฟ้องชัดเจนมาก เช่น สมมติว่าผมใส่แผ่นแล้วรอยต่อของแผ่นอยู่สูงกว่าเส้นของฟ้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับรูปภาพของเราคือ ท้องฟ้าโดนแบ่งเป็นสองสียาวไปทั้งภาพ เห็นชัดเจนเลยครับ ในทางกลับกันถ้าเราใส่แผ่นลึกเกินกว่าเส้นระดับสายตา ทะเลก็เป็นสองสีลักษณะเดียวกับท้องฟ้าเลย ยังไม่จบแค่นั้นครับ ถ้าเราปรับระดับกล้อง นั่นแปลว่าเส้นระดับขอบฟ้าเปลี่ยน เราจึงต้องขยับแผ่นฟิลเตอร์ตามตลอด ต้องหมั่นเช็คภาพหลังกล้องครับ เรียกว่าพลาดนิดเดียว ภาพฟ้องเลยแถมแก้ยากมาก… แต่ๆๆๆ ภาพที่ได้คุ้มค่ากับการเสียเวลามากครับ บอกลาฟ้าขาวโล่งๆ กันเลย…




ผมไปภูกระดึงมา 7 ครั้ง ไม่เคยได้มุมนี้เลยครับ เหตุผลเพราะจะมีคนมารอถ่ายมุมนี้เยอะมาก กว่าคนจะเริ่มทยอยกลับ ดวงอาทิตย์ก็เกือบลับขอบฟ้าไปแล้ว ครั้งนี้ก็เช่นกันครับ ขนาดว่าพวกผมรีบเดินไปจุดนี้ก่อนเวลา 5 โมงเย็นก็ยังไม่ทันอยู่ดี คนเข้าคิวรอถ่ายมุมนี้กันเพียบ สุดท้ายเลยได้แต่วนอยู่รอบๆ แต่ก็ยังหามุมสวยกว่ามุมในรูปนี้ไม่ได้ จนกระทั่งเวลาราว 6 โมง คนเริ่มบางตาลงจึงได้มีโอกาสเก็บมุมนี้ ผมซ้อนฟิลเตอร์ GND แบบ Soft สองแผ่น(0.6+0.9) เพื่อถ่วงน้ำหนักฟ้ากับพื้นดินให้บาลานซ์กันนิด และด้วยเป็นช่วงเวลาที่แสงน้อยแล้ว จึงต้องลากสปีดไปถึง 15 วินาทีเพื่อเก็บแสงให้พอ แล้วนำภาพมาแต่งอีกนิดด้วย PS(เพิ่มแสงกับสี) ในที่สุดก็มีมุมนี้เป็นของตัวเองเสียทีครับ ต้องขอบคุณเจ้าแผ่นฟิลเตอร์หนักๆ เลย…




บทสรุป

ข้อดี

  1. ถึงจะเป็นการทดลองใช้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่ผมไม่เจอเคสสีเพี้ยนเลยครับ ทดลองถ่ายทั้งแบบย้อนแสง ซ้อนแผ่น รวมไปถึงการลากสปีดยาวหลายนาทีด้วย
  2. Holder ดีไซน์มาได้ดีมากๆ น่าจะดีที่สุดเท่าที่มีขายในท้องตลาดตอนนี้ครับ ใส่เข้า-ถอดออก ง่ายกว่าใส่ฟิลแตอร์ UV แบบกลมหมุนติดกับหน้าเลนส์อีก
  3. Coating ทำมาดีมาก เวลาโดนน้ำ มันจะไม่เกาะบนแผ่น ยกเว้นว่าเป็นละอองน้ำเล็กมากจริงๆ ก็จะมีเกาะบ้างนิดหน่อย
  4. Holder กับแผ่น เข้ากันได้ดีมาก ไม่เจอปัญหาแสงรั่ว แถมใส่ง่ายและกระชับไม่ต้องกลัวแผ่นร่วงเลย
  5. การดีไซน์และวัสดุที่ใช้ในการทำ Holder ดูดีมาก แข็งแรงด้วย จับแล้วรู้เลยว่าเป็นของที่ทำขึ้นมาอย่างประณีตเลยทีเดียว



ข้อเสีย

หากพูดถึงข้อเสีย เท่าที่ใช้มาเจอเรื่องเดียวครับ แต่ต้องบอกก่อนว่าเป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการของตัวเอง ปัญหาเกิดกับแผ่น ND 10 Stop ครับ ซึ่งแผ่นนี้จะมีฟองน้ำด้านหลังแผ่น ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่าง Holder กับแผ่นฟิลเตอร์ ปิดไม่ให้แสงรั่วเข้าเลนส์ ตอนใส่ต้องระวังครับ มันใส่ได้ด้านเดียวซึ่งข้อนี้ผมทราบอยู่แล้ว ตอนใส่ก็เช็คทุกครั้งว่าใส่ถูกด้านแน่นอน แต่ก็มีปัญหาจนได้  > <”…

 ตอนที่ใส่แผ่นลงไป บางทีเจ้าฟองน้ำด้านหลังแผ่นที่ว่ามันจะแน่นๆ นิดครับ ถ้ารู้สึกแน่นๆ อย่าดันต่อครับให้ถอดออกแล้วเสียบใหม่ ซึ่งในสภาวะปกติมันจะใส่ง่ายแบบลื่นๆ เลย... แต่ด้วยความที่ผมใช้ครั้งแรกเลยคิดว่ามันคงเป็นปกติที่มันแน่นๆ หน่อย และมั่นใจแล้วว่าใส่ถูกด้านเลยดันลงไปอีกนิด ผลคือแผ่นฟองน้ำด้านหลังมันเปิดออกมานิดนึงครับ และนั่นเป็นหายนะเลย เพราะหลังจากที่ใส่ครั้งที่สอง ส่วนที่เปิดขึ้นมานิดๆ มันจะไม่ลงร่องแล้วครับ ทีนี้เมื่อเราดันแผ่นลงไป แผ่นฟองน้ำมันจะลอกขึ้นมาทั้งหมดเลย... ฉะนั้นแผ่น ND 10 Stop ของผมต่อไปจะลากสปีดยาวมากไม่ได้แล้วครับ เพราะจะเกิดอาการแสงรั่ว... เศร้าเลย...

 

ส่วนเรื่องที่อยากบอกเพิ่มเติมคือ

น้ำหนักเอาเรื่องอยู่เหมือนกันครับ ติด Holder เข้าหน้าเลนส์พร้อมแผ่นฟิลเตอร์ 1 แผ่น ถือกล้องมือเดียวซัก 5 นาทีนี่ถึงขั้นสั่นนิดๆ เลยครับ จริงๆ เรื่องน้ำหนักก็เรื่องนึง แต่ที่ผมรู้สึกว่ามีปัญหามากกว่าน้ำหนักคือเรื่อง Balancing  เพราะน้ำหนักของ Holder มันไปอยู่ตรงปลายหน้าสุดของเลนส์ เกิดอาการหัวทิ่มอย่างรุนแรง...  ถึงจะไม่หนักหนาเท่ากับถือกล้อง + 70-200 ด้วยมือเดียว แต่ฟิลลิ่งคล้ายกันเลยครับ ฮา...


สิ่งที่อยากได้

น้ำหนักของแผ่นน่าจะลดลงยากแล้ว แต่ถ้าลดน้ำหนักของ Holder ลงได้อีกนิดจะดีมากครับ

เรื่องราคา ผมว่า Holder ราคาถูกมาก แต่แผ่นราคาสูงไปนิดครับ ตีหยาบๆ ไปแผ่นละ 8,000+ (แผ่นชนิด 150 System) และถ้าให้ใช้งานได้ครอบคลุม อย่างน้อยผมว่าต้องมี 2 แผ่นหล่ะ ตีไปว่าชุดนึงราว 20,000 บาท ยิ่งถ้าต้องการงานที่คลอบคลุมคงต้องมี 4 แผ่นตีเป็นราคาก็ 3 หมื่นปลายๆ ตัวเบากันไปเลย แต่ผมมองว่าคุ้มค่ากับการลงทุนครับ เป็นออปชั่นเสริมที่ทำให้เราได้งานที่ดีขึ้นเยอะ ได้งานแปลกตากว่างานทั่วๆ ไปด้วย หลายๆ ช็อตที่เราเคยเสียโอกาสตอนไม่มีฟิลเตอร์ ตอนนี้ทำได้แล้ว บางสถานที่เราไปซ้ำยากหรือต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง เราก็ได้รูปสมความตั้งใจ หากมองกันในมุมแบบนี้ ยังไงก็คุ้มครับ แนะนำว่าสายแลนด์ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

จัดไป 9.5/10 คะแนนไปเลยครับสำหรับ NiSi ฟิลเตอร์... ประทับใจมากๆ...









ขอบคุณที่ติดตามอ่านจนจบ สวัสดีครับผม... ^ ^
Comments info